บ่อยครั้งที่สิ่งประดิษฐ์บางอย่างมักถูกมองข้าม เมื่ออยู่ผิดยุคผิดสมัย ไม่เว้นแม้แต่
เครื่องถ่ายเอกสารด้วยการใช้แสงของ
เชสเตอร์ คาร์ลสัน (Chester Carlson)
คาร์ลสันเป็นบุตรเพียงคนเดียวของช่างตัดผมเร่ร่อน พ่อกับแม่พาเขาระหกระเหินไปทั่วอเมริกา
เพื่อรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ ประทังชีวิต คาร์ลสันต้องช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
แต่แม้จะตกทุกข์ได้ยาก แต่คาร์ลสันก็ไม่เคยละทิ้งการศึกษา เขาเรียนและทำงานไปพร้อมกัน
กระทั่งสำเร็จการศึกษาสาขาฟิสิกส์จากแคลเทคในปี 1930
และในปี ค.ศ. 1936
นายเชสเตอร์ คาร์ลสัน ได้รับหน้าที่ในการตรวจเอกสารของบริษัทเครื่อง
ใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง และเริ่มมีความรู้สึกว่าสำเนาเอกสารมีไม่พอใช้งาน จะให้ไปพิมพ์ใหม่ก็เสีย
เวลา ด้วยความชื่นชอบในการเป็นนักประดิษฐ์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นายคาร์ลสัน จึงเริ่มคิดค้นหา
ทางประดิษฐ์ เครื่องถ่ายเอกสารแบบใหม่ที่เขาคิดไว้ เพื่อทดแทนเครื่องโรเนียวแบบเก่า
เชสเตอร์ คาร์ลสัน ได้ใช้เวลาว่างจากงาน ไปนั่งค้นคว้าหาข้อมูลที่ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กทุกวัน
นั่งเสาะหาผลงานจากนักวิทยาศาสตร์ จนในที่สุด คาร์ลสัน ได้ไปพบผลงานการค้นคว้าของนายพอล
เซเลนยี นักฟิสิกส์ ชาวฮังกาเรียน เจ้าของทฤษฎีที่ว่า “แสงจะเพิ่มสภาพการนำกระแสไฟฟ้าสถิตของ
วัตถุนั้นได้” คาร์ลสัน จึงเริ่มเดินหน้าค้นคว้าต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวอย่างจริงจัง
กระทั่งในปี 1937 จึงได้คิดวิธีผนวกไฟฟ้าสถิตกับการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแสง (photoconductivity)
ด้วยการใช้ตัวชาร์จไฟฟ้าสถิตบนพื้นผิวที่โรยด้วยผงละเอียดเพื่อทำให้เกิดภาพ ปีถัดมา คาร์ลสัน และ
อ็อตโต คอร์เน (Otto Kornei) ผู้ช่วยของเขา จึงสร้างเครื่องถ่ายเอกสารซีโรกราฟิคเครื่องแรกขึ้นตาม
แนวคิดนี้ขึ้นมา
คาร์ลสันได้รับสิทธิบัตรเครื่องถ่ายเครื่องทำสำเนาภาพ (electrophotography) ในปี 1940 จากนั้นก็
พยายามตระเวนขายสิ่งประดิษฐ์นี้ ขณะศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมายควบคู่กันไป ในที่สุดโชคก็เข้า
ข้าง หลังจากเขานำเสนอเครื่องถ่ายเอกสารต้นแบบมา 8 ปี หัวหน้าฝ่ายกราฟิคของสถาบันวิจัยแบ็ทเทลล์
ซึ่งเป็นองค์กรค้นคว้าวิจัยที่ไม่ประสงค์ผลกำไรตกลงรับเป็นตัวแทนสำหรับสิทธิบัตรของคาร์ลสันแต่เพียง
ผู้เดียว แลกกับ 50% ของค่าลิขสิทธิ์ที่จะได้ในอนาคต
จากนั้นในปีเดียวกัน โจ วิลสัน (Joe wilson) เจ้าของบริษัท ฮาลอยด์ คอมพานี สนใจสิ่งประดิษฐ์ของ
คาร์ลสัน ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในปี 1946 และร่วมกันล้มลุกคลุกคลาน พัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารต้นแบบ
เป็นเวลากว่า 12 ปี และเปลี่ยนชื่อบริษัทให้ติดหูมากขึ้นว่า ซีร็อกซ์ ซึ่งกลายเป็นคำเรียกขานเครื่องถ่าย
เอกสารตั้งแต่นั้นมา
ในปลายทศวรรษ1950 บริษัทซีร็อกซ์ ได้สร้างเครื่องถ่ายเอกสารรุ่น 914 ที่สามารถถ่ายสำเนาได้ 1 แสน
แผ่น/เดือน โดยไม่ต้องใช้น้ำยาเคมี และหลังจากสำรวจความต้องการของตลาดที่ต้องการถ่ายเอกสารที
ละแผ่นด้วย พวกเขาจึงติดตั้งเครื่องนับจำนวนแผ่นเข้าไป ทำให้ในปี 1962 ฮาลอยด์สามารถส่งเครื่องถ่าย
เอกสารออกสู่ตลาดได้ 10,000 เครื่อง
แม้คาร์ลสันจะมองว่าสิ่งประดิษฐ์คือสะพานนำเขาไปสู่ความมั่งคั่ง ที่ทำรายได้ให้เขากว่า 150 ล้านเหรียญ
ในทศวรรษ 1960 แต่เขาก็ไม่ได้หลงระเริงกับชื่อเสียงเงินทองที่ได้มาเลย ตรงกันข้ามคาร์ลสันยังใช้ชีวิตสมถะ
อยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กับครอบครัวและบริจาคเงินรายได้ก้อนใหญ่ให้การกุศล เขายอมรับว่าความลำบากในวัยเด็ก
ทำให้เขามีภูมิคุ้มกัน ไม่หลงระเริงกับความหรูหราฟู่ฟ่าที่อยู่รอบกาย
คาร์ลสันเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ขณะอายุ 62 ปี ในขณะที่ประดิษฐกรรมของเขากลายเป็นสินค้าที่บริษัท
ด้านอิเล็กทรอนิกส์หันมาแชร์ตลาดเพิ่มขึ้น และทำให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยปฏิเสธผลงานของเขาแทบกระอัก
เลือดเลยทีเดียว